วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ลงมือทำ สำรวจความสามารถ



เราไม่มีทางรู้หรอกว่า..
เราทำอะไรได้บ้าง.. ไม่ได้บ้าง
ถ้าเรา..ไม่ลงมือทำมันซะก่อน
 

“โอ๊ย ทำไม่ได้หรอกค่ะ/ครับ”
“ไม่เคยทำมาก่อน ทำไม่ได้หรอก”
“ยากเกินความสามารถ ทำไม่ได้แน่นอน”
“ให้โอกาสคนอื่นเถอะค่ะ/ครับ หนู/ผม คงทำไม่ได้”
ประโยคข้างบนนี้คุ้น ๆ หรือเคยหลุดออกจากปากเรากันบ้างหรือเปล่า
“มั่นใจ คนไทยเป็นล้าน เคยพูดประโยคนี้” ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลองทำ หรือคิดไปเองว่าทำไม่ได้
ไม่มีหรอกค่ะ ที่จะมีใครทำอะไรได้ โดยไม่ลองทำมันซะก่อน
ในการทำงาน คุณเรียนจบมา ได้เข้าเป็นพนักงานใหม่ในบริษัทแห่งหนึ่ง หัวหน้าหรือพี่เลี้ยงให้งานคุณรับผิดชอบ มีใครบ้าง ที่ปฏิเสธไม่ทำงานนั้น เพราะทำไม่ได้ หรือเข้างานวันแรกแล้วทำงานนั้นได้เลย โดยไม่ต้องมีใครสอน?? ไม่มีใช่ไหมคะที่จะลังเลรับงานนั้น ณ เวลานั้น คุณคิดอย่างเดียวว่า เราต้องทำ
เมื่อคุณทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาได้ คุณรู้สึกภูมิใจไหมคะ ในฐานะเด็กจบใหม่ ทำงานสำเร็จ พี่ในแผนกชม หัวหน้างานชม แค่นี้ ก็ปลื้ม กินข้าวไม่ลง นัดเพื่อนเม้ามอยความสำเร็จกันทั้งอาทิตย์
นึกย้อนไปในช่วงเวลาเหล่านั้นทุกครั้งที่คุณได้รับโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ แล้วคุณตัดสินใจว่าคุณทำไม่ได้แน่ แต่เมื่อพิจารณาความสามารถของตัวเองแล้วมั่นในว่า คุณทำได้ จงอย่าปฏิเสธที่จะลงมือทำ อย่ากลัวการไม่ประสบผลสำเร็จในงาน อย่ากลัวหากจะต้องเผชิญกับปัญหาในอนาคตหากตกลงรับโอกาสนั้น อย่าคิดไปเองว่าทำไม่ได้แน่นอนเพราะฝีมือไม่ถึง ไม่ได้เรียนมาก่อน ไม่เคยทำมาก่อน หากคุณยังไม่ได้ตรึกตรองอย่างถ้วนถี่ อย่าให้คำว่า “ทำไม่ได้” ติดอยู่กับปากคุณทุกครั้งที่หัวหน้าให้งานใหม่ ๆ ท้าทายความสามารถคุณมาเลยค่ะ
มั่นใจในความสามารถ ความรู้ และสติปัญญาตนเองค่ะ เมื่อคุณมั่นใจ ความสำเร็จของงานนั้นก็เกือบครึ่งแล้ว
“เราไม่มีทางรู้หรอกว่า เราทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าคุณไม่ลองลงมือทำซะก่อน”
 



วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

ทำงานอิสระ ไม่ยากที่จะทำ แต่โคตรยากถ้าอยากอิสระตลอดชีวิต..

ใคร ๆ ก็อยากทำงานอิสระ




ไม่ต้องตอกบัตร ไม่ต้องมีเจ้านายมาคุม ไม่ต้องตื่อแต่เช้าฝ่ารถติดไปทำงาน อยู่แต่ในตึก ไม่ต้องกังวลว่าจะทำอะไรไม่ถูกใจเจ้านาย ไม่ต้องเจอการเมืองในที่ทำงาน

แต่สิ่งนึงที่คนทำงานอิสระมักจะตกม้าตายและไปไม่รอด คือการขาดระเบียบวินัยในการทำงาน หรือให้อิสระกับตัวเองจนเกินไป 

ทำงานอิสระนี่แหละ กดดันยิ่งกว่าทำงานประจำ เพราะเราต้องเอาชนะความขี้เกียจและความสบายของตัวเองให้ได้ 

ต้องทำงานให้ทันตามกำหนดโดยไม่มีใครบังคับนอกจากเราต้องบังคับตัวเอง 

ต้องแสวงหาโอกาสและเรียนรู้ให้มากกว่าคนอื่น ด้วยตัวเอง โดยหาคนมาสอนเหมือนในที่ทำงานยากกว่า

ต้องไปเจอลูกค้าหรือเข้าไปทำงานเร็วกว่าเวลานัด ทั้ง ๆ ที่ตอนทำงานประจำ เราสายตลอด และมีข้ออ้างทุกอย่าง แต่งานอิสระ สายแค่ครั้งเดียว อาจหมายถึง งานเราหลุดเลย

งานอิสระ คือการขายเครดิตและความสามารถ มิใช่แค่ความสามารถอย่างเดียวแล้วรอรับเงินเดือน

ต้องเชี่ยวชาญในการบริหารเวลาและการเงิน เพื่อให้กินอยู่ได้โดยไม่อดตายซะก่อน เก่งจริง ต้องทำกิจกรรมอย่างอื่น เที่ยวและยังคงสังสรรค์กับเพื่อนได้ในบางครั้งอีกด้วย

ระเบียบ วินัย ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความอดทน คือสิ่งสำคัญของการอยู่รอด

ทำงานอิสระ ไม่ยากที่จะทำ แต่โคตรยากถ้าอยากอิสระตลอดชีวิต..

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

จ้างที่ปรึกษาให้คุ้ม คนในต้องร่วมมือ

ทำไมจ้างที่ปรึกษามาแล้ว ไม่ได้ผลงานอย่างที่คิด? คุณประสบปัญหานี้อยู่หรือเปล่า?..
 

ดูเหมือนว่า ในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจมากมายที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจ ไม่เฉพาะเพียงแค่การที่ต้องต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น แต่รวมถึงการบริหารพนักงานให้มีความกระตือรือร้นและกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อมุ่งไปสู่ผลงานตามเป้าหมาย

การแก้ไขปัญหาภายในด้วยการจัดนำเครื่องมือหลาย ๆ อย่างมาใช้ในการพัฒนาพนักงานหรือวางกลยุทธ์การทำธุรกิจนั้น บางแห่งก็ประสบผลสำเร็จ แต่ก็มีหลายแห่งมากที่ไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ ทั้งนี้ สาเหตุอย่างหนึ่ง คือ การไม่เชื่อหรือไม่สามารถโน้นน้าวพนักงานได้จากคนในองค์กรด้วยกันเอง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากความไม่เชื่อถือ หรือประสบการณ์ที่ไม่ต่างกันของแต่ละคนก็ตาม

และนี่คือจุดที่ทำให้ผู้บริหารนึกถึงการใช้งานที่ปรึกษาจากภายนอกองค์กร

ที่ปรึกษาจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่า การจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยให้คำแนะนำนั้นเป็นการลงทุนที่หากเทียบกับการใช้คนภายในร่วมกันหาทางออกจะมีมูลค่าสูงกว่า แต่สิ่งที่ได้กลับคืนสู่บริษัท ก็จะเห็นผลมากกว่าอย่างแน่นอน เพราะมุมมองที่แตกต่างออกไป  การคิดนอกกรอบ และที่สำคัญที่ปรึกษาย่อมไม่ต้องการเอาชื่อเสียงของตัวเองมาปู้ยี่ปู้ยำเล่น ๆ เป็นแน่ (ไม่รวมถึงที่ปรึกษาที่ขาดจริยธรรมในการทำงานนะ คนเหล่านั้น เป็นกลุ่มคนที่มิได้ต้องการเข้ามาช่วยอย่างแท้จริง แต่กลับเกาะกลุ่มความเป็นที่ปรึกษาและหารายได้เอาเท่านั้นเอง)

อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาก็คือที่ปรึกษา มิใช่ผู้ลงมือปฏิบัติ และมิใช่ผู้ที่รู้จักองค์กรได้ดีไปกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรอยู่ทุกวัน ที่ปรึกษามีหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำแก่คนในองค์กรเพียงแค่ไม่กี่วันใน 1 สัปดาห์ (บางแห่งเป็นรอบรายเดือนด้วยซ้ำไป)  
จ้างที ก็ไม่ใช่ถูก ๆ ที่ปรึกษาระดับกลางก็มากกว่า 30,000 บาทต่อวัน ที่เก่ง ๆ บางท่านสูงถึง 60,000 บาทต่อวัน
 



ดังนั้นแล้ว หากผู้บริหารคิดนโยบายในการเชิญที่ ปรึกษามาปรับปรุง แก้ไข แนะนำ ส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์กร คนทำงานในส่วนนั้น ๆ ต้องมีความตระหนักรู้ รับรู้ เข้าใจ ในเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการนำที่ปรึกษามาร่วมงาน รวมถึงต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จร่วมกัน


หากเป็นเพียงนโยบายของผู้บริหารที่อยากได้ที่ปรึกษามาแก้ปัญหา แต่คนทำงานระดับหัวหน้างานกลับไม่ตระหนักและไม่ให้ความร่วมมือ สิ่งที่จะเห็นได้ คือการไปไม่ถึงไหนของงาน ที่ปรึกษาก็อยากเดินหน้า แต่เหมือนทุกครั้งที่เดินหน้า จะมีคนฉุดให้ถอยกลับมาที่เดิมเสมอ

ก่อนจะจ้างที่ปรึกษา ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน ให้เป้าหมาย ของผลสำเร็จที่ต้องการ หลังจากนั้น ก็ควรหมั่นตรวจสอบ ดูแลอย่างสม่ำเสมอ อำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่ายทำงานได้อย่างราบรื่น สนับสนุนในการลงมือเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงร่วมกันว่าดีขึ้น เท่าเดิมหรือแย่ลง ไม่ปล่อยให้ที่ปรึกษาและตัวแทนองค์กรทำงานอย่างอิหลักอิเหลื่อ คือ ให้คำแนะนำใด ๆ ไป ตัวแทนก็ไม่สามารถลงมือทำได้ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร หรือ มอบหมายงานตัวแทนองค์กรมากจนทำงานร่วมกับที่ปรึกษาได้อย่างไม่เต็มที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายไม่ใส่ใจในการลงมือทำตามที่ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ
 
และแน่นอน ผลงานที่ออกมา จะไม่ชัดเจนอย่างที่ตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้แต่ต้น
อย่างนี้ จะโทษที่ปรึกษาว่าไม่เก่ง ก็คงไม่ได้ (พบเห็นว่าหลายองค์กรเป็นเช่นนั้น โทษทุกอย่าง ยกเว้นโทษตัวเอง)
อย่าลืมว่าทุกวันที่ผ่านไป แม้จะได้งานหรือไม่ได้งาน คุณยังคงต้องจ่ายค่าจ้างให้ที่ปรึกษาเหมือนเดิม


จ้างที่ปรึกษาทั้งที ใช้งานให้คุ้ม ที่ปรึกษาพร้อมถ่ายทอดความรู้ประประสบการณ์ให้อยู่แล้ว เหลือแค่ถามกันเองในองค์ว่า "พร้อมจะไฟ่วเพื่อให้ผลงานสัมฤทธิ์ หรือเปล่า??"


จ้างที่ปรึกษาให้คุ้ม คนในต้องร่วมมือ

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

เมื่อเรามองไม่เห็น เราจะใช้ชีวิตอย่างไร


เมื่อเรามองไม่เห็น เราจะใช้ชีวิตอย่างไร
 
ประสบการณ์ที่ชีวิตจริง ไม่มีใครอยากได้โอกาสสัมผัส
 


ประสบการณ์ที่ชีวิตจริง ไม่มีใครอยากได้โอกาสสัมผัส

 คุณเคยหงุดหงิดเวลามองไม่เห็นอะไรหรือเปล่า

คุณเคยกังวลในสิ่งที่คุณมองไม่เห็นหรือเปล่า

คุณเคยตกใจกับสิ่งที่มาสัมผัสคุณโดยที่คุณไม่เห็นหรือเปล่า

 คุณเคยคิดไหมว่า ถ้าคุณมองไม่เห็น คุณจะมีชีวิตอย่างไร คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร

 คนที่มองเห็นแต่พูดไม่ได้ ฟังไม่ได้ยิน ความสวยงาม ยังได้รับการสัมผัสจากคุณด้วยดวงตา

 แต่คนที่ได้ยิน ได้พูด แต่มองไม่เห็น ความสวยงามทั้งหลาย เกิดจากการจินตนาการ โดยการสัมผัส โดยการได้ยิน และโดยการรับรส

 เมื่อเรามองไม่เห็น เราจะใช้ชีวิตอย่างไร

 เราจะข้ามถนนอย่างไร

เราจะเดินชนอะไร

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่คือผัก ผลไม้ ประเภทไหน

เราจะซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร

เราจะขึ้นรถ ลงเรือ อย่างไร

เราจะใช้เงินอย่างไร

ฯลฯ

 ทั้งหมดเมื่อได้เป็นรับรู้ด้วยตัวเอง ว่าการที่เราตาบอด มองไม่เห็น การใช้ชีวิต ยากมากถึงมากที่สุด

อยาก เชิญชวนให้ทุกคนได้เรียนรู้ การมองไม่เห็น ความมืดบอดของแสงสว่าง ทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่ต้องใช้การสัมผัส การได้ยิน การลิ้มรสและที่สำคัญที่สุด การเชื่อใจ

ราคาค่าเข้าเพียง 90 บาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่าเช่าแพง จามจุรีแสควร์ ชั้น 4

 https://www.facebook.com/didthailand?ref=ts&fref=ts

 ประสบการณ์และมุมมองที่ได้รับ คุ้มค่ามากกว่า 90 บาทแน่นอน

 เมื่อคุณกลัวสิ่งใด จงจำว่า จินตนาการคือสาเหตุของความกลัว

Attendance ของลูกน้อง สำคัญมากแค่ไหน

คุณเป็นแบบหัวหน้างานนี้หรือไม่





หัวหน้างานระดับผู้จัดการไม่ทราบว่าลูกน้องหายไปไหน ลูกน้องมาทำงานไม่ครบลูกน้องไม่ลา พอเลยเวลาทำงาน ผู้จัดการไม่โทรตาม HR ถามก็ตอบว่าคงมาสาย แต่พอ HR โทรเช็ค ปรากฏว่าพนักงานขอลากะทันหัน ลูกน้องที่เหลือที่หายไป ผู้จัดการบอกไม่ได้ แต่ให้ HR ไปถามเพื่อนร่วมทีมของพนักงานคนนั้น

นี่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการจากผู้จัดการหรือคนที่เป็นหัวหน้างานใช่หรือไม่???

หน้าที่หนึ่งของหัวหน้างาน คือการควบคุมและวางแผนการมาทำงานของลูกน้อง หัวหน้าที่ไม่รู้เลยว่า วันนี้ ลูกน้องมาทำงานครบทีมหรือไม่ พอ HR ตรวจสอบ กลับตอบไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในคนที่เป็นหัวหน้างาน

การตรวจสอบการมาทำงานในแต่ละวันของลูกน้อง

1. 
เพื่อรู้ถึงพฤติกรรมและวินัยในการทำงานของลูกน้อง

2.
ลูกน้องคนไหนไม่มา หัวหน้างานควรสามารถวางแผนล่วงหน้าในการหาผู้ทำงานทดแทน เพื่อไม่ให้งานชะงัก

3.
กรณีไม่รู้ล่วงหน้า เป็นการลากะทันหัน หัวหน้างานควรทราบถึงขั้นตอน กฎในการติดตามพนักงาน เช่นโทรศัพท์ติดตาม

4.
หากพนักงานไม่สามารถทำงานทดแทนกันได้เนื่องจาก work load หัวหน้าควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการจัดลำดับความสำคัญของงาน เพื่อลด work load และ focus ที่งานเร่งด่วน

หัวหน้าที่ดีควรจะให้คำตอบแก่ HR แล้วว่า พนักงานคนไหนลา คนไหนขาด มาตรการลงโทษทางวินัยสำหรับลูกน้องที่ไม่ลาล่วงหน้า หรือไม่แจ้งให้ทราบ มิใช่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการอะลุ้มอล่วยด้วยการปิดตา 1 ข้าง แต่ละเลยผลกระทบต่อองค์กร

ใครว่า attendance ของลูกน้องไม่สำคัญ??