วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

จ้างที่ปรึกษาให้คุ้ม คนในต้องร่วมมือ

ทำไมจ้างที่ปรึกษามาแล้ว ไม่ได้ผลงานอย่างที่คิด? คุณประสบปัญหานี้อยู่หรือเปล่า?..
 

ดูเหมือนว่า ในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจมากมายที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจ ไม่เฉพาะเพียงแค่การที่ต้องต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น แต่รวมถึงการบริหารพนักงานให้มีความกระตือรือร้นและกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อมุ่งไปสู่ผลงานตามเป้าหมาย

การแก้ไขปัญหาภายในด้วยการจัดนำเครื่องมือหลาย ๆ อย่างมาใช้ในการพัฒนาพนักงานหรือวางกลยุทธ์การทำธุรกิจนั้น บางแห่งก็ประสบผลสำเร็จ แต่ก็มีหลายแห่งมากที่ไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ ทั้งนี้ สาเหตุอย่างหนึ่ง คือ การไม่เชื่อหรือไม่สามารถโน้นน้าวพนักงานได้จากคนในองค์กรด้วยกันเอง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากความไม่เชื่อถือ หรือประสบการณ์ที่ไม่ต่างกันของแต่ละคนก็ตาม

และนี่คือจุดที่ทำให้ผู้บริหารนึกถึงการใช้งานที่ปรึกษาจากภายนอกองค์กร

ที่ปรึกษาจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่า การจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยให้คำแนะนำนั้นเป็นการลงทุนที่หากเทียบกับการใช้คนภายในร่วมกันหาทางออกจะมีมูลค่าสูงกว่า แต่สิ่งที่ได้กลับคืนสู่บริษัท ก็จะเห็นผลมากกว่าอย่างแน่นอน เพราะมุมมองที่แตกต่างออกไป  การคิดนอกกรอบ และที่สำคัญที่ปรึกษาย่อมไม่ต้องการเอาชื่อเสียงของตัวเองมาปู้ยี่ปู้ยำเล่น ๆ เป็นแน่ (ไม่รวมถึงที่ปรึกษาที่ขาดจริยธรรมในการทำงานนะ คนเหล่านั้น เป็นกลุ่มคนที่มิได้ต้องการเข้ามาช่วยอย่างแท้จริง แต่กลับเกาะกลุ่มความเป็นที่ปรึกษาและหารายได้เอาเท่านั้นเอง)

อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาก็คือที่ปรึกษา มิใช่ผู้ลงมือปฏิบัติ และมิใช่ผู้ที่รู้จักองค์กรได้ดีไปกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรอยู่ทุกวัน ที่ปรึกษามีหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำแก่คนในองค์กรเพียงแค่ไม่กี่วันใน 1 สัปดาห์ (บางแห่งเป็นรอบรายเดือนด้วยซ้ำไป)  
จ้างที ก็ไม่ใช่ถูก ๆ ที่ปรึกษาระดับกลางก็มากกว่า 30,000 บาทต่อวัน ที่เก่ง ๆ บางท่านสูงถึง 60,000 บาทต่อวัน
 



ดังนั้นแล้ว หากผู้บริหารคิดนโยบายในการเชิญที่ ปรึกษามาปรับปรุง แก้ไข แนะนำ ส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์กร คนทำงานในส่วนนั้น ๆ ต้องมีความตระหนักรู้ รับรู้ เข้าใจ ในเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการนำที่ปรึกษามาร่วมงาน รวมถึงต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จร่วมกัน


หากเป็นเพียงนโยบายของผู้บริหารที่อยากได้ที่ปรึกษามาแก้ปัญหา แต่คนทำงานระดับหัวหน้างานกลับไม่ตระหนักและไม่ให้ความร่วมมือ สิ่งที่จะเห็นได้ คือการไปไม่ถึงไหนของงาน ที่ปรึกษาก็อยากเดินหน้า แต่เหมือนทุกครั้งที่เดินหน้า จะมีคนฉุดให้ถอยกลับมาที่เดิมเสมอ

ก่อนจะจ้างที่ปรึกษา ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน ให้เป้าหมาย ของผลสำเร็จที่ต้องการ หลังจากนั้น ก็ควรหมั่นตรวจสอบ ดูแลอย่างสม่ำเสมอ อำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่ายทำงานได้อย่างราบรื่น สนับสนุนในการลงมือเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงร่วมกันว่าดีขึ้น เท่าเดิมหรือแย่ลง ไม่ปล่อยให้ที่ปรึกษาและตัวแทนองค์กรทำงานอย่างอิหลักอิเหลื่อ คือ ให้คำแนะนำใด ๆ ไป ตัวแทนก็ไม่สามารถลงมือทำได้ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร หรือ มอบหมายงานตัวแทนองค์กรมากจนทำงานร่วมกับที่ปรึกษาได้อย่างไม่เต็มที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายไม่ใส่ใจในการลงมือทำตามที่ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ
 
และแน่นอน ผลงานที่ออกมา จะไม่ชัดเจนอย่างที่ตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้แต่ต้น
อย่างนี้ จะโทษที่ปรึกษาว่าไม่เก่ง ก็คงไม่ได้ (พบเห็นว่าหลายองค์กรเป็นเช่นนั้น โทษทุกอย่าง ยกเว้นโทษตัวเอง)
อย่าลืมว่าทุกวันที่ผ่านไป แม้จะได้งานหรือไม่ได้งาน คุณยังคงต้องจ่ายค่าจ้างให้ที่ปรึกษาเหมือนเดิม


จ้างที่ปรึกษาทั้งที ใช้งานให้คุ้ม ที่ปรึกษาพร้อมถ่ายทอดความรู้ประประสบการณ์ให้อยู่แล้ว เหลือแค่ถามกันเองในองค์ว่า "พร้อมจะไฟ่วเพื่อให้ผลงานสัมฤทธิ์ หรือเปล่า??"


จ้างที่ปรึกษาให้คุ้ม คนในต้องร่วมมือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น