วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ลงมือทำ ทำได้ และทำสำเร็จ


จงลงมือทำเมื่อแน่ใจจริง ๆ ว่า

สิ่งนั้น คุ้มค่าที่จะทำ และ

สามารถจะทำได้

และ เมื่อลงมือทำแล้ว

ต้อง สำเร็จ

เคยนับไหมคะ ว่าในช่วงชีวิตการทำงาน มีกี่ครั้งที่เราต้องรับปากและลงมือทำงานที่เราไม่ถนัด หรือไม่มั่นใจว่าเราจะทำได้ หรือรู้ว่าทำไม่ได้แน่ แต่เรากลับไม่กล้าปฏิเสธงานนั้นไป ด้วยเหตุผลร้อยแปด พร้อมกับคำว่า “ได้ค่ะ” “ได้ครับ” หลุดออกมาจากปากเราแบบไม่ทันได้คิดให้ถี่ถ้วน

เป็นเรื่องปกติค่ะ โดยเฉพาะในหมู่คนไทย ที่มักจะไม่กล้าบอกปัดงานนั้น ๆ เหตุผลหลักมีอยู่แค่สองอย่าง คือ

1.       ความเกรงใจ ไม่ว่าจะเกรงใจเจ้านาย เกรงใจเพื่อนร่วมงาน เกรงใจลูกค้า เป็นต้น ดูเหมือนคำว่า “เกรงใจ” จะกลายเป็นพฤติกรรมประจำชาติของคนไทยในที่ทำงานไปแล้ว (แต่พอออกนอกที่ทำงานเมื่อไหร่ ทำไมความเกรงใจหายไปหมดก็ไม่รู้ ดูได้จากการใช้สิ่งของหรือสถานที่สาธารณะร่วมกัน ตามหมู่บ้านขนาดเล็กถึงกลาง พบเห็นจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น) แต่ตัวเกรงใจนี่ มักเจอประเภทเกรงใจกับคนที่เรารัก เราชอบ หรือคนที่มีผลได้ผลเสียกับเรา แต่กลับขาดความเกรงใจและปฏิเสธทันควันกับคนที่เราไม่ชอบ ไม่อยากร่วมงานด้วย หรือเราไม่ได้ประโยชน์อะไร ทั้ง ๆ ที่งานนั้น มีความสำคัญกับบริษัท

2.       ความกลัว สิ่งที่น่ากลัวอันเป็นสาเหตุต่อเนื่องจากความเกรงใจ เพราะความกลัว เป็นสารตั้งต้นของความเกรงใจ เป็นปีศาจของการไม่ประสบความสำเร็จ บางคนกลัวว่าถ้าปฏิเสธเจ้านายไปแล้ว เจ้านายจะไม่สนับสนุน บางคนกลัวว่า ปฏิเสธไป จะเป็นการขัดใจเจ้านายแล้วจะมีผลกับการประเมินผลการทำงาน หรือโดนเจ้านายกลั่นแกล้งให้งานหนักในภายหลัง บางคนกลัวเพื่อนร่วมงานไม่คบหาสมาคมแค่เพราะไม่ช่วยทำงานนั้นให้ บางคนกลัวสารพัด ไม่น่าเชื่อที่หลายคนไม่เคยกลัวว่าหากทำไปแล้วทำไม่ได้ หรือทำไปแล้วล้มเลิกกลางคันจะก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ หรือไม่

ไม่ผิดหรอกนะคะ หากสองสิ่งนี้ เป็นเรื่องจริงกับชีวิตคุณซึ่งเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดาคนหนึ่ง ที่มักจะรับปากทำงานไปก่อน แล้วทำได้หรือทำไม่ได้ ค่อยว่ากันทีหลัง เลิกกลางคันก็คงไม่เป็นไร (มั๊ง)

แต่มิใช่กับคนที่ต้องการก้าวหน้าในอาชีพไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารในอนาคต

เพราะคนที่จะเป็นใหญ่ในวันข้างหน้า หลักอย่างหนึ่งคือการต้องมีภาวะผู้นำ และหนึ่งในกฏของผู้นำก็คือ

“จงลงมือทำเมื่อแน่ใจจริง ๆ ว่าสิ่งนั้นคุ้มค่าที่จะทำ และสามารถจะทำได้ และเมื่อลงมือทำแล้ว  ต้องสำเร็จ”

****************************************************************************

อะไรที่เกินความสามารถ คนที่จะเป็นผู้นำที่ดีและยิ่งใหญ่ เขาจะปฏิเสธและไม่ทำค่ะ เพราะเขาทราบว่า โอกาสประสบความสำเร็จน้อยหรือไม่มีเลย หากทำลงไป แล้วต้องล้มเลิกระหว่างทาง ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากกว่าการปฏิเสธไม่ทำแต่เสียทีแรก เสียทั้งเรื่องเวลาและทรัพยากร หรืออาจจะบั่นทอนกำลังใจคุณไปเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสัดส่วนงานที่ไม่สำเร็จต่องานสำเร็จมีมาก

เมื่อใครก็ตาม ได้ขอร้องให้คุณช่วยงานหรือรับงานไปทำ สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ พิจารณาตัวคุณเองว่า คุณทำได้หรือทำไม่ได้ มั่นใจแค่ไหนว่าคุณทำได้ หากประสบพบปัญหาระหว่างทาง คุณจะมีวิธีแก้ปัญหา(คร่าวๆ) หรือไม่ จากนั้นก็พิจารณาตัวงาน ว่างานที่จะทำนั้น เป็นไปได้หรือไม่ในทางปฏิบัติ หรือมันเป็นเพียงแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของเจ้านายเท่านั้น

หากไปเจอลูกตื้อมาก ๆ เข้า อย่าปากหนักค่ะ ถามขอข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ยิ่งกว่ากับการตัดสินใจของคุณ เช่น เป้าหมาย ผู้ร่วมงาน ระยะเวลาของงานนั้น กำหนดส่ง และความคาดหวัง

จากนั้น ถ้าคุณพิจารณาทุกสิ่งอย่างที่มีแล้ว ตอบตัวเองได้ว่า งานนี้ ฉันทำไม่ได้แน่ ก็ขอให้ปฏิเสธกลับไปพร้อมคำอธิบายว่าเหตุใดคุณจึงต้องปฏิเสธ อย่าเล่นตอบแค่ว่า “ไม่เอาอ่ะ ผม/หนู/ดิฉัน ทำไม่ได้ ให้คนอื่นทำเหอะ ความสามารถผมไม่ถึง” ตอบแบบนี้เมื่อไหร่ คุณเป็นได้เจอลูกบังคับกลับมาแน่นอน

คนทำงานเก่ง เป็นผู้นำคนอื่นได้ ต้องหัดวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและความจริง

หากคุณคิดว่าคุณทำได้ รับปากทำงานนั้นเถอะค่ะ ลุยไปเลย มั่นใจแล้ว ทำให้สุด

และเมื่อทำแล้ว จงทำมันให้สำเร็จ อย่าท้อถอย และไม่ล้มเลิกกลางคัน

“ท้อได้ แต่อย่าถอย.....ถอยได้ แต่อย่าถอน”

จำไว้เสมอค่ะ ว่า...

“เมื่อลงมือทำ จงมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จเท่านั้น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น